โค้ด: เลือกทั้งหมด
“แจ็ค หม่าขายทุเรียน 80,000 ลูกในหนึ่งนาที” นั่นเป็นข่าวที่พาดหัวหนังสือพิมพ์และในเว็บไซ้ต์ต่าง ๆ เมื่อสัปดาห์ก่อนหลังจากที่แจ็ค หม่ามาพบนายกรัฐมนตรีและลงนามความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ที่จะส่งเสริมการค้าขายออนไลน์ผ่านแพลทฟอร์มของอาลีบาบา เวบไซ้ต์อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีน
ปรากฏการณ์การขายทุเรียนครั้งนี้ แม้ว่าหลายคนจะพูดว่าเป็นเรื่องของการ “สร้างภาพ” ของใครต่อใครเพราะว่าการขายทุเรียนเพียง 80,000 ลูกภายใน 1 นาทีในวัน “เปิดตัว” นั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะขายได้แบบนี้ตลอดไป นอกจากนั้น ในแต่ละปีเรามีการขายทุเรียนเป็นล้าน ๆ ลูกอยู่แล้วผ่านระบบการซื้อขายปกติ อย่างไรก็ตาม ผมเองมองเหตุการณ์ครั้งนี้ว่ามีนัยยะสำคัญยิ่งยวด มันคล้าย ๆ กับเป็นสัญญาณหรือหลักไมล์ที่บอกว่า E-commerce และการทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตของไทยอาจจะกำลัง “Take off” หรือออกตัวอย่างแรงหลังจากที่คนไทยเริ่มใช้มันอย่างกระท่อนกระแท่นมาหลายปี
ในเวลาเดียวกัน “สัญญาณการแข่งขัน” ในเรื่องของการใช้อินเตอร์เน็ตมาแทนที่ระบบดั้งเดิมก็เกิดขึ้นทั่วไปหมด ธุรกิจต่างก็พยายามดึงคนเข้ามาใช้ระบบใหม่ด้วยกลยุทธ์ “ตัดราคา” และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ใช้บริการเพื่อดึงให้คนเหล่านั้นเข้ามาสู่ระบบของตนเองโดยที่ต่างก็ยอม “ขาดทุน” ก่อนเพราะหวังว่าเมื่อจำนวนลูกค้ามีมากขึ้นแล้วก็จะสามารถหาทางทำเงินจากเครือข่ายที่ใหญ่โตนั้นได้ในภายหลัง
สำหรับผมแล้ว นี่คือสัญญาณว่า “ศึกชิงนิ้ว” กำลังเกิดขึ้น ความหมายก็คือ บริษัทต่าง ๆ กำลังสร้าง Platform โดยเฉพาะในโทรศัพท์มือถือเพื่อให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการต่าง ๆ โดยไม่ต้องเสียค่าบริการ คนเพียงแต่โหลดแอ็บของบริษัทผ่าน “ปลายนิ้ว” ก็ใช้ได้แล้ว และหลังจากนั้น ถ้าลูกค้ายิ่งใช้นิ้วสัมผัสกับระบบของบริษัทมากเท่าไร บริษัทก็จะยิ่งประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น อาลีบาบาเองคงไม่ต้องการแค่ให้ชาวสวนหรือผู้ค้ารายย่อยขายแค่ทุเรียน เขาต้องการให้ขายส้มโอ มะยงชิต และผลไม้ไทยทั้งหลายผ่านระบบของเขา ว่าที่จริง ผลไม้ก็เป็นแค่สินค้าอย่างหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่เขาต้องการจริง ๆ ก็คือ การค้าขายสินค้าแทบทุกอย่างผ่านระบบอีคอมเมิร์ซของเขาโดยไม่มีข้อจำกัด เขากำลังแสดงว่าถ้าเขาสามารถขายทุเรียนและผลไม้ที่มีอายุสั้นให้กับคนจีนที่อยู่ไกลเป็นพัน ๆ กิโลเมตรได้ การค้าขายอย่างอื่นก็ง่ายและสะดวกแค่ “ปลายนิ้วสัมผัส”
อาลีบาบาไม่ใช่บริษัทเดียวที่กำลังเข้าทำศึกชิงนิ้วในตลาดไทย E-commerce ในไทยกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อม ๆ กับการแข่งขันจากผู้เล่น “ระดับโลก” ที่พร้อมจะยอมขาดทุนจำนวนมากเพื่อชิง “นิ้ว” ของผู้บริโภคหรือผู้ขายรายย่อยไว้ก่อน ลาซาด้าที่เข้ามาในตลาดไทยหลายปีนั้นผมคิดว่ากำลังสร้างฐานลูกค้าที่มั่นคงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ชอบปี้เองก็กำลังเข้ามาแข่งขันอย่างหนักเห็นได้จากการโหมโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะทางทีวี ในทางตรงกันข้าม บริษัทไทยหลาย ๆ แห่งที่เริ่มทำอีคอมเมิร์ซมาก่อนกลับไม่ประสบความสำเร็จในการดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการ เหตุผลนั้นน่าจะอยู่ที่ว่าพวกเขามักจะเป็นคนที่ขายผ่านร้านค้าดั้งเดิมอยู่แล้ว การทำอีคอมเมิร์ซมักจะเป็นแค่ช่องทางเสริมเพื่อเอาไว้ “ป้องกันตัว” จากคู่แข่งที่ทำอีคอมเมิร์ซเป็นหลัก ดังนั้น พวกเขาก็ไม่ทุ่มเท เขาไม่อยาก “ฆ่า” ร้านค้าของตนเองด้วยอีคอมเมิร์ซของเขา นอกจากนั้น เนื่องจากในช่วงแรก อาจจะหลาย ๆ ปี บริษัทจะต้องขาดทุนอย่างหนักซึ่ง “บริษัทแบบดั้งเดิม” รับไม่ได้ ถ้าทำไปราคาหุ้นจะตกหนัก ดังนั้นพวกเขาก็มักจะทำไปอย่างช้า ๆ และไม่ลงทุนมากเกินไป ซึ่งตรงกันข้ามกับบริษัทไฮเท็คดิจิตอลที่คนพร้อมที่จะซื้อหุ้นในราคาแพงลิ่วแม้ว่าบริษัทจะขาดทุนหนัก ขอแต่เพียงให้เห็นว่าลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็พอ
นอกจากเรื่องของอีคอมเมิร์ซแล้ว เราก็เริ่มเห็น “ศึกชิงนิ้ว” ในด้านของการให้บริการ เฉพาะอย่างยิ่งด้านฟินเทคซึ่งเป็นเรื่องของการเงินการลงทุน ผมรู้สึกทึ่งมากกับความรวดเร็วของการใช้แอ็บการโอนเงินของแบ้งค์ ก่อนหน้านี้คนก็ยังไม่ได้สนใจที่จะใช้มือถือทำธุรกรรมการเงินมากนัก แต่เมื่อมีแบ้งค์บางแห่งตัดสินใจ “ชิงนิ้ว” ของลูกค้าโดยการเสนอ “ฟรีค่าธรรมเนียม” ทุกแบ้งค์ต่างก็ต้องเข้ามาแข่งขัน ดังนั้น การเติบโตของธุรกิจทางการเงินต่าง ๆ ผ่านมือถือด้วย “ปลายนิ้ว” ก็จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ผลกระทบที่ตามมาจาก “ศึกชิงนิ้ว” ผมคิดว่ามีมากมาย ธุรกิจที่จะได้ผลดีอย่างเห็นได้ชัดก็คือ Logistic หรือระบบการจัดส่งและการกระจายสินค้า การเติบโตของบริษัทผู้นำอย่าง Kerry Express ที่เน้นการส่งสินค้าถึงบ้านคนซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซนั้นน่าจะมหาศาล อย่างไรก็ตาม ผมก็เชื่อว่าในไม่ช้าก็จะมีบริษัทอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่เข้ามาทำธุรกิจนี้รองรับกับธุรกิจการขายของตนเองด้วยโดยเฉพาะเมื่อเขาเห็นว่าปริมาณการขนส่งและกระจายสินค้าผ่านเครือข่ายของเขามีมากพอ
ธุรกิจที่จะถูกกระทบหนักก็น่าจะเป็นร้านค้าและผู้ขายสินค้าแบบดั้งเดิมที่อาจจะถูกอีคอมเมิร์ซแย่งลูกค้า โดยปกติ สินค้าที่จะถูกกระทบนั้นน่าจะอยู่ในกลุ่มราคาระดับกลางและมีมาตรฐานหรือรูปแบบที่แน่นอนมีความหลากหลายน้อย เหตุผลที่สินค้าราคาถูกมากและลูกค้าซื้อแต่ละครั้งอาจจะไม่เกิน 100-200 บาท นั้นจะไม่ถูกกระทบก็เพราะมันไม่คุ้มค่าส่ง ในขณะที่สินค้าแพงมากเป็นหลาย ๆ หมื่นหรือเป็นแสนบาทนั้น ลูกค้ามักจะต้องการตรวจรายละเอียดสินค้าก่อนซื้อ ในด้านของมาตรฐานหรือแบบของสินค้าเองนั้น สินค้าที่มีความหลากหลายและมาตรฐานแต่ละชิ้นแตกต่างกันมากนั้น ลูกค้าก็มักจะต้องไปตรวจสอบด้วยตนเองก่อนซื้อ เป็นต้น
ห้างร้านและช็อบปิ้งมอลเองก็เป็นธุรกิจที่น่าจะถูกกระทบพอสมควรโดยเฉพาะเมื่อการค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ซเป็นไปอย่างกว้างขวางมากขึ้นเรื่อย ๆ จริงอยู่ มีความเชื่อในประเทศไทยที่มีอากาศร้อนและรถติดว่า ยังไงคนก็ยังอยาก “เดินห้าง” แต่ก็เป็นไปได้ว่าคนอาจจะยังเดินห้างอยู่แต่การใช้จ่ายซื้อสินค้าก็อาจจะลดลง และเมื่อร้านค้าในห้างไม่สามารถขายสินค้าได้มากพอห้างก็ไม่สามารถคิดค่าเช่ากับร้านแพงเกินไป ผลก็คือ กำไรของคนที่ทำห้างร้านก็จะลดลง จากการสังเกตในฐานะ “คนเดินห้าง” ในระยะหลัง ๆ ช็อบปิงมอลหันมาทำร้านอาหารมากขึ้นเพราะรู้สึกว่าอาหารยังเป็นสิ่งที่ขายได้ดี อย่างไรก็ตาม ผมก็คิดอยู่เหมือนกันว่าในที่สุดแม้แต่อาหารก็อาจจะถูกกระทบ เหตุผลก็คือ ดูเหมือนว่าคนจะเริ่มสั่งอาหารส่งถึงบ้านผ่านอินเตอร์เน็ตหรือโทรศัพท์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ข้อจำกัดว่าร้านดังอาจจะอยู่ไกลและที่จอดรถไม่สะดวกนั้นเริ่มจะหมดไปเมื่อระบบการส่งนั้นมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก
ประเด็นสุดท้ายที่ผมคิดว่าน่าจับตามองก็คือ เรื่องของความเกี่ยวโยงกันของเทคโนโลยีดิจิตอลทั้งหลาย การที่การพัฒนาหรือการ “ปฏิวัติ” การทำธุรกิจหรือธุรกรรมบางอย่างในอดีตเกิดขึ้นช้านั้น บางทีอาจจะเป็นเพราะว่าองค์ประกอบบางอย่างไม่พร้อม แต่เมื่อทุกอย่างลงตัว การเปลี่ยนแปลงก็อาจจะเร็วมาก ยกตัวอย่างก็เช่นเรื่องของระบบการโอนเงินที่มีโอกาสที่จะถูก “ปลดล็อก” ให้ง่ายและมีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ก็อาจจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องอื่น ๆ ตามมามหาศาล เป็นต้น