โค้ด: เลือกทั้งหมด
ครั้งที่แล้ว ผมเขียนถึงการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายในเชิงวิชาการ แต่บางคนอาจอยากรู้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะปรับดอกเบี้ยขึ้นเมื่อไรและจะปรับขึ้นมากน้อยเพียงใด อยากรู้ว่า กนง คิดอย่างไร และจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ เป็นการพยายามเดาใจของ กนง. มากกว่า ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักวิเคราะห์ที่จะต้องพยายามคาดการณ์ทิศทางของดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งมีผลต่อดอกเบี้ยอื่น ๆ และ ต่ออัตราแลกเปลี่ยนตลอดจนเศรษฐกิจโดยรวม
ซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ให้สัมภาษณ์กับ นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ไปแล้วเมื่อวันที่ 6 ก.ค. ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนั้นจะขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัย คือ
- เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น : ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด กล่าวคือ หากเงินเฟ้อ (ทั้งพื้นฐาน และ ทั่วไป)ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีก 3-4 เดือน อย่างชัดเจน ก็น่าจะเป็นเหตุให้ กนง. เริ่มปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในไตรมาส 4 ของปีนี้ และหาก กนง. เชื่อว่า เงินเฟ้อน่าจะขยับตัวไปอยู่ที่ 1.5% ในอีก 18-24 เดือน ข้างหน้า ก็คงเห็นว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ประมาณ 2.5% (จาก1.5% ในขณะนี้) ก็น่าจะเป็นที่พอใจแล้ว
- การขยายตัวของ จีดีพีที่ ธปท คาดว่าจะเป็น 4.4% ในปีนี้ และ 4.2% ในปีหน้านั้น ถือว่าสูงเกินพอแล้ว เพราะ ธปท. มองว่าเศรษฐกิจโตเต็มศักยภาพได้เพียง 4% ดังนั้นแรงกดดันให้เงินเฟ้อมีแต่จะปรับสูงขึ้น และ หากมองจากส่วนของการขยายตัวของเศรษฐกิจ
- กนง. กล่าว หลายครั้งว่า เป็นห่วงว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำเกินไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความเสี่ยงเรื่อง Search for yieldหมายความว่า กลัวจะมีการลงทุนที่เสี่ยงเกินไป เพียงเพราะต้องการหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ดังนั้น ยิ่งรีบปรับดอกเบี้ยขึ้น ก็จะยิ่งเป็นเรื่องที่ดีในการลดความเสี่ยงในเรื่องนี้
- ธปท. ให้ความสำคัญกับ policy spaceหมายความว่าหากปรับดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้นมากๆ ได้ก็จะเป็นประโยชน์ในอนาคต ที่อาจต้องปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ที่อาจเสี่ยงต่อการได้ รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกในปี 2020 ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง แต่ประเด็นนี้ผมเห็นว่าต้องระมัดระวัง เพราะนโยบายการเงินนั้น ใช้เวลาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจนาน ถึง 12 -18 เดือน ดังนั้นหากปรับดอกเบี้ยขึ้นในปี 2019 ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงในปี 2020 พอดี
จะเห็นได้ว่า ธปท. กำลังส่งสัญญาณว่าปัจจัยทั้ง 4 ข้อ กำลังจะพัฒนาไปสู่การเปิดโอกาสให้ กนง. สามารถปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นได้แล้วในเร็ววันนี้ (เพียงแต่รอตัวเลขเงินเฟ้อ และ จีดีพี ไตรมาส 2 ยืนยัน) แต่ในความเห็นของผมนั้น น่าจะมีอีก 3 ปัจจัย ที่จะต้องนำมาพิจารณาด้วยคือ
- นโยบายและมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐที่ดูจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็คงจะกระทบกับการส่งออกและเศรษฐกิจไทย ประมาณปี 2019 เพราะการส่งออกของไทยนั้น มีขนาดใหญ่มากกว่าการบริโภคในประเทศเสียอีก นอกจากนั้น หากรวมการท่องเที่ยวด้วยแล้ว ก็จะมีสัดส่วนสูงกว่า 70% ของจีดีพี การท่องเที่ยวของไทยนั้น แรงขับเคลื่อนที่สำคัญ คือ นักท่องเที่ยวจีน แต่การทำสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐกำลังทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงและเงินหยวนอ่อนค่า ดังนั้น ประมาณเดือน ก.ย.- ต.ค. เราจึงจะเห็นแนวโน้มที่ชัดเจนว่าสงครามการค้าจะรุนแรงและกว้างขวางมากน้อยเพียงใด ซึ่งหากจะไม่กระทบการส่งออกไทยในปีนี้ แต่จะกระทบในปีหน้า ก็จะยิ่งเป็นเหตุไม่ให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพราะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปี 2019 พอดี
- ไทยพยายามระมัดระวังมิให้ถูกกระทรวงสหรัฐกล่าวหาว่าเป็นประเทศที่บิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งในช่วงที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยเข้าเงื่อนไขทั้ง 3 ประการ คือเกินดุลการค้าสหรัฐตั้งแต่ 20,000 ล้านเหรียญขึ้นไป เกินดุลบัญชีเดินสะพัด มากกว่า 3% ของ จีดีพี และมีการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ทุนสำรองเพิ่มขึ้น 2% ของจีดีพี หรือมากกว่า เพียงแต่ปริมาณการค้าโดยรวมของไทยนั้น กระทรวงการคลังสหรัฐยังไม่ถือว่าเข้าข่ายประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐ อย่างไรก็ดีหากปรับดอกเบี้ยขึ้นเร็วเกินไป ทำให้เงินบาทแข็งค่า และต้องเข้าแทรกแซงก็จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะถูกสหรัฐขึ้นบัญชีว่าเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน
- ดอกเบี้ยนโยบายของไทย (ปัจจุบัน 1.5%) นับวันจะต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ (ปัจจุบัน 1.75-2.0%) มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะธนาคารกลางสหรัฐจะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น อีกประมาณ 1.0-1.25% ใน 18 เดือนข้างหน้า ประเด็นนี้ ทำให้ กนง. คงคิดจะรีบปรับดอกเบี้ยนโยบายของไทยเพิ่มขึ้นบ้าง เพราะเกรงว่า ส่วนต่างที่มากเกินไป จะทำให้เสี่ยงต่อการไหลออกของเงินทุนเป็นจำนวนมากอย่างฉับพลัน ดังนั้น หากธนาคารกลางสหรัฐยังยืนยันที่จะปรับดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น โดยไม่เปลี่ยนแปลง กนง ก็คงจะหาจังหวะปรับดอกเบี้ยไทยขึ้นในโอกาสแรกครับ