ประเมินผลลัพธ์ทางสังคมอย่างไร/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ตอบกลับโพส
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
กระทู้: 1243
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ ก.ค. 11, 2012 10:42 pm

ประเมินผลลัพธ์ทางสังคมอย่างไร/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ โดย Thai VI Article » อังคาร ธ.ค. 26, 2017 8:09 pm

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    สัปดาห์ที่แล้วดิฉันได้มีโอกาสไปร่วมรับฟังการบรรยายและได้รับแจกคู่มือการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม ซึ่งจัดทำโดย คุณสฤณี อาชวานันทกุล และ คุณ ภัทราพร แย้มลออ โดยทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ได้รับฟังแนวคิดเกี่ยวกับการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม ซึ่งเห็นว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกิจการอื่นๆได้ด้วย จึงขอนำมาแบ่งปันในวันนี้ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้ประกอบการค่ะ

    กิจการเพื่อสังคม เป็นกิจการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้กลไกการบริหารจัดการสิ่งที่เป็นประเด็นปัญหา ให้เกิดประสิทธิภาพ เมื่อต้องการวัดประสิทธิผล จึงต้องมุ่งไปที่ การบรรลุเป้าหมายในการแก้ประเด็นปัญหาของสังคม

    ในขณะที่ธุรกิจ จะใช้กลไกทางการบริหารจัดการ เสนอสินค้าหรือบริการให้กับตลาด (ที่เห็นมายังมีช่องว่าง) เพื่อแสวงหากำไร ดังนั้น ในการวัดประสิทธิผล จึงวัดที่กำไร

    กิจการเพื่อสังคม และ ธุรกิจที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม จะมีการวัดและรายงาน “ไตรกำไรสุทธิ” หรือ Triple Bottom Line ซึ่งประกอบด้วย กำไรที่เป็นตัวเงิน หรือ Profit  การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนที่เกี่ยวข้อง หรือ People และ การใส่ใจดูแลรักษาโลกเราให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี หรือ Planet

    ธุรกิจต้องอาศัยเงินลงทุนจากผู้ถือหุ้นและเงินกู้ยืม และหากมีนวัตกรรมดีๆ ก็สามารถขอเงินทุน หรือรางวัลสนุบสนุนได้ ในบางครั้ง  แต่กิจการเพื่อสังคม ต้องอาศัยทั้งเงินลงทุนจากผู้ถือหุ้น เงินกู้ยืม และต้องการเงินสนับสนุนในลักษณะของเงินให้เปล่า เงินรางวัลหรือเงินบริจาค ที่มากกว่าธุรกิจ เพราะเป้าหมายการทำงานและผลลัพธ์ที่ต้องการนั้น ยากกว่าเป้าหมายกำไรที่เป็นตัวเงิน และเป้าหมายหลายๆอย่างคิดออกมาเป็นเงินไม่ได้ แต่รู้สึกได้ เห็นได้ สัมผัสได้

    เมื่อต้องทำในสิ่งที่วัดเป็นตัวเลขได้ยาก กิจการเพื่อสังคมจึงมีโจทย์ในการแสดงผลสัมฤทธิ์ของกิจการที่ยากกว่าธุรกิจ และนักวิชาการทั่วโลกก็พยายามหาหลักการต่างๆเพื่อมาประเมินผลลัพธ์

    ถ้าถามว่า “ประเมินให้ใครดู” ก็ต้องตอบว่า ผู้สนับสนุนเงินทุนทุกกลุ่ม ก็อยากทราบกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นที่อาจจะทำใจแล้วว่า เงินที่ลงทุนไปเสมือนเงินบริจาคที่อยากจะใช้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดีๆต่อสังคมและต่อโลก เช่น การลดจำนวนคุณแม่วัยใส  ต้องการหยุดการรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย  ต้องการรักษาและฟื้นฟูแนวปะการังชายฝั่ง ฯลฯ

    จริงๆแล้ว การดำเนินการเหล่านี้ เป็นหน้าที่ของรัฐ  แต่ทุกประเทศประสบกับปัญหาว่า รัฐไม่สามารถดำเนินการในสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก หรืออาจไม่มีประสิทธิภาพเลย จึงต้องอาศัย “พลเมืองที่ตื่นตัว” และมีใจและความมุ่งมุ่นที่จะทำงานเหล่านี้ เข้ามาทำแทน โดยใช้วิธีการดำเนินการและบริหารจัดการแบบ “ธุรกิจ”

    และรัฐ ก็ทำหน้าที่สนับสนุนเงินทุน เพื่อให้ “กิจการเพื่อสังคม” เหล่านี้ ทำหน้าที่เติมเต็มในส่วนที่ขาด

    คู่มือการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมฉบับนี้ จะกล่าวถึงหลักในการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมไว้ 7 ข้อคือ 1. การคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียและดึงให้เข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุดและตั้งแต่ต้น ก่อนเริ่มการประเมิน  2. เข้าใจสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง คือต้องรู้ว่ามีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง  3. ใช้ “ค่าแทนทางการเงิน” มาประเมินมูลค่าทางการเงินของผลลัพธ์  4. รวบรวมเฉพาะสิ่งที่เป็นสาระสำคัญและเชื่อมโยงกับกิจกรรมหลัก   5. หลีกเลี่ยงการกล่างอ้างเกินจริง   6. เน้นความโปร่งใสทุกขั้นตอน  และ 7. พร้อมรับการตรวจสอบ

    ในการประเมิน ต้องมีการเลือกตัวชี้วัด ซึ่งตัวชี้วัดที่ดี จะมีคุณสมบัติ เหมือนเป้าหมายทางการเงินที่นักวางแผนการเงินใช้อยู่เลยค่ะ คือ ต้อง SMART ดังนี้ 1. เฉพาะเจาะจง (Specific)  2. วัดได้ (Measurable)  3. บรรลุได้ (Achievable)  4. มีความเกี่ยวข้องกับประเด็น (Relevant) และ 5. มีเงื่อนเวลา (Time-bound) สามารถแยกย่อยการวัดในแต่ละช่วงได้

    ในการนำเสนอ ได้มีการเชิญผู้ประกอบการสังคมและตัวกลางมาให้ข้อคิดและแบ่งปันประสบการณ์ด้วยค่ะ

    ม.ล. ดิศปนัดดา ดิศกุล จากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เล่าให้ฟังว่า โครงการดอยตุงประเมินโครงการต่างๆด้วยคำถามว่า “ทุกบาทที่ลงไป ชาวบ้านได้อะไร”

    คุณสินี จักรธรานนท์ จาก มูลนิธิอโชก้า แบ่งปันว่า อโชก้าสนับสนุน ผู้ประกอบการสังคม โดยเน้นไปที่ “การแก้ไขประเด็นปัญหาที่ไปกระทบโครงสร้าง ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง” และสนับสนุนให้ทุนแก่ผู้ประกอบการสังคมเหล่านั้น ให้สานฝันในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

    และมีตัวอย่างจาก LocalALike ผู้ประกอบการท่องเที่ยววิถีชุมชน ที่เข้าไปช่วยตั้งแต่ เสาะแสวงหาชุมชนที่มีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยว เตรียมชุมชน และช่วยทำการตลาดให้กับชุมชน โดยมีเป้าหมาย สร้างชุมชนให้มีพลังในการจัดการตัวเองได้ดีขึ้น โดยประยุกต์ใช้ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

    อีกหนึ่งตัวอย่างเป็น ของมูลนิธิพัฒนาผู้สูงอายุ ในโครงการ  Buddy Homecare ที่พยายามตอบโจทย์การขาดแคลนคนดูแลผู้สูงอายุ แต่กลับพบว่า มีผลลัพธ์ทางสังคมที่กว้างกว่านั้น คือการเปลี่ยนแปลงและยกระดับคุณภาพชีวิตของชนเผ่า ผู้ได้รับทุนเรียนหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุ เรียกว่ายิงทีเดียวได้นกสองตัวเลยล่ะค่ะ

    หวังว่าจะทำให้ท่านเกิดแรงบันดาลใจในการเตรียมวางแผนประเมินกิจการของท่าน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ หรือกิจการเพื่อสังคมนะคะ

    ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นองค์กรแบบใด การประเมินผลลัพธ์ของกิจกรรม เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่ใช่เพียงประเมินเพื่อให้ทราบว่า ที่เราทำมานั้น ช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายขององค์กรหรือไม่ แต่ยังประเมินเพื่อวางแผนว่า เราจะปรับปรุง และทำให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร

    การไม่หยุดนิ่ง การพยายามปรับปรุงตนเอง พัฒนาตนเองให้ดียิ่งๆขึ้นนั้น เป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นด้านการงาน การเงิน หรือด้านชีวิตค่ะ

    สุขสันต์วันคริสต์มาส แด่ผู้อ่านทุกท่านค่ะ
[/size]



ตอบกลับโพส