โค้ด: เลือกทั้งหมด
เมื่อต้นปีเพิ่งเขียนเรื่องความเสี่ยงของโลกในปีนี้ซึ่ง World Economic Forum รวบรวม และกล่าวถึงแนวโน้มของโลกว่า การเจรจาการค้าจะเป็นแบบทวิภาคี (เจรจากันเองเป็นคู่ๆ)มากขึ้น ซึ่งนับเป็นแนวโน้มที่ฝ่ายสนับสนุนการค้าเสรีไม่ชอบใจ ประกอบกับที่ประธานาธิบดีทรัมป์เคยกล่าวไว้ในตอนหาเสียงว่า “สหรัฐอเมริกาต้องมาก่อน” ซึ่งหมายถึงแนวโน้มการเป็นชาตินิยม และการกีดกันการค้า
ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาโลกก็เกิดอาการช็อคเล็กๆ เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศว่าจะเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมินั่ม ทำเอาประเทศต่างๆโลกปั่นป่วนไปหมด ไม่ว่าจะเป็นจีน และประเทศอื่นๆในทวีปเอเชีย หรือประเทศอุตสาหกรรมในยุโรป
เหตุการณ์นี้ทำให้ดิฉันนึกถึงตอนที่เรียนวิชา “ประวัติศาสตร์อเมริกัน (American History)” ในชั้นมัธยมปลายเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว คุณครูย้ำถึงคำหนึ่งหลายครั้งหลายคราในชั้นเรียน นั่นคือคำว่า “แทรีฟ (Tariff)” ซึ่งถ้าอ่านออกเสียงแบบอังกฤษ หรือยุโรป ก็จะไม่ออกเสียงสระ “แอ” มากเท่าอเมริกัน ฟังออกคล้ายๆ “แท่-ริฟ” และส่วนใหญ่เวลาใช้เขาจะใส่อักษร “s” เข้าไปด้วยเป็น Tariffs (ซึ่งดิฉันเห็นว่าผิดหลักไวยากรณ์เพราะเป็นคำนามที่นับไม่ได้)
Tariff คือ ภาษี หรืออากร ซึ่งเก็บจากการนำสินค้าแต่ละประเภท เข้าหรือออกประเทศ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยที่สหรัฐอเมริกายังเป็นอาณานิคม โดยแต่ละรัฐก็เรียกเก็บในอัตราที่ตั้งขึ้น จนกระทั่งมีการออกกฎหมายเรียกเก็บอากรขาเข้าของสหรัฐอเมริกาฉบับแรกขึ้นในปี 1789 เรียกว่า The Tariff Act of 1789 และกลายเป็นรายได้สำคัญของรัฐบาล
ในสมัยก่อน อากรนำเข้า เป็นรายได้หลักของรัฐบาล โดยบางช่วงคิดเป็นสัดส่วนสูงเกือบ 90%ของแหล่งรายได้ของรัฐ จึงมีความสำคัญค่อนข้างมาก จนกระทั่งมีการตรากฎหมายภาษีเงินได้ (Federal Income Tax) ในปี 1913 ความสำคัญของอากรนำเข้าในฐานะรายได้หลักของรัฐจึงค่อยๆลดลง และภาษีเงินได้จึงกลายเป็นรายได้หลักแทน
ช่วงแรกๆ สหรัฐเริ่มเก็บอากรนำเข้าจากสินค้าเพียงบางประเภท เช่น วิสกี้ เหล้ารัม ยาสูบ ยาเส้น และน้ำตาลทราย การเก็บอากรนำเข้าวิสกี้ เป็นเรื่องราวใหญ่โตถึงกับเกิดเหตุการณ์ Whiskey Rebellion หรือ “กบฏวิสกี้”ในปี 1794 ซึ่งในภายหลังเมื่อพิจารณาว่าอากรวิสกี้เก็บได้เพียงน้อยนิด จึงมีการยกเลิกไปในปี 1802
อากรที่เก็บจากสินค้านำเข้า จะมีอัตราต่างกัน ซึ่งจะมีการกำหนดไว้ และมีสินค้าบางอย่างได้รับการยกเว้น
การเก็บอากรนำเข้า ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิตในประเทศที่จะผลิตสินค้านั้นๆเพื่อจำหน่ายทดแทนการนำเข้า ซึ่งมาตรการนี้ รัฐบาลของทุกประเทศได้นำไปใช้ในแต่ละช่วงเวลา ทั้งนี้เพื่อสร้างและปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งสหรัฐอเมริกาก็ใช้วิธีการปรับเพิ่มอากรนำเข้า เป็นเครื่องมือในการสร้างอุตสาหกรรมภายในประเทศ หลายครั้งโดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและช่วงเศรษฐกิจตกต่ำที่เรียกว่า Great Depression
ในปี 1934 สหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมาย Reciprocal Tariff Act เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยสามารถทำความตกลงกับคู่ค้าที่จะเก็บอากรขาเข้าในอัตราต่างๆ (ที่ต่ำลง) เพื่อแลกกับการที่คู่ค้าจะลดอัตราอาการให้กับสินค้าของสหรัฐที่ส่งไปขายยังประเทศนั้นๆด้วย
ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองมาจนถึงปี 1994 มีความพยายามที่จะเจรจาความตกลงเรื่องอากรนำเข้าร่วมกันในหลายประเทศจึงเป็นที่มาของ GATT (General Agreement on Tariffs and Trade) ซึ่งเจรจากันหลายรอบจนกระทั่งในรอบที่ประชุมที่ประเทศอุรุกวัยในปี 1994 จึงเกิดการตั้ง World Trade Organization หรือ WTO ขึ้น ซึ่ง ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ของไทยเราก็เคยไปเป็นผู้อำนวยการในช่วงปี 2002-2005
ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาเก็บอากรนำเข้าจากสินค้าประมาณ 30%ของสินค้านำเข้าทั้งหมด ส่วนที่เหลืออยู่ในลิสต์ที่ไม่เรียกเก็บ และในปี 2016 อากรนำเข้ารวมกับภาษีสรรพามิต คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2.9% ของรายได้ภาษีรวมของรัฐบาลสหรัฐเท่านั้น รายได้หลักคือภาษีเงินได้จากบุคคลธรรมดาค่ะ คิดเป็นสัดส่วนถึง 47.3% ของรายได้ภาษีรวม
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561 ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศจะเรียกเก็บภาษีเหล็กนำเข้าในอัตรา 25% และอลูมินั่มในอัตรา 10% โดยยกเว้นให้เฉพาะประเทศแคนาดาและเม็กซิโก และต่อมาจึงเพิ่ม สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ บราซิล และอาร์เจนตินาในกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นด้วย
การประกาศนี้ทำตามกฎหมาย Trade Expansion Act 1962 ที่ให้อำนาจประธานาธิบดีในการเรียกเก็บอาการนำเข้า ในกรณีที่เห็นว่าการนำเข้านั้นมีปริมาณ และอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นคงของประเทศ
ความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ภายใต้โครงการ IGM (Initiative on Global Markets) ของมหาวิทยาลัยซิคาโก ซึ่งสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับธุรกิจระหว่างประเทศ ตลาดการเงิน และนโยบายสาธารณะ ของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำในมหาวิทยาลัยของสหรัฐ 51 คน พบว่า การเก็บอากรนำเข้าของประธานาธิบดีทรัมป์ในครั้งนี้ จะส่งผลลบมากกว่าผลบวก เพราะเมื่อราคาเหล็กเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคก็จะต้องจ่ายมากขึ้น และชาวอเมริกันที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบ มีจำนวนมากกว่าคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมผลิตเหล็ก คนที่จะได้รับผลบวกมีเพียงผู้ผลิตเหล็กและอลูมินั่มขนาดใหญ่ ส่วนผู้ผลิตขนาดกลางหรือเล็กที่อาจมีวัตถุดิบในการผลิตบางส่วนที่นำเข้าก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย และจากการศึกษาของ Heather Timmons คาดว่าจะมีผู้ตกงานถึง 146,000 ราย และอาจจะรุนแรงขึ้นหากประเทศอื่นขึ้นอากรโต้ตอบสหรัฐด้วย
สงครามการค้าเริ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ และตอนนี้ตลาดหุ้นก็พยายามประมวลผลกระทบของมาตรการนี้ที่มีต่อผลประกอบการของแต่ละบริษัท จึงเป็นสาเหตุที่หุ้นทั่วโลกมีการปรับตัวกันตั้งแต่ทราบข่าว
วันนี้รวบรวมข้อมูลมาปูพื้นให้ท่านติดตามข่าวต่อไปอย่างใกล้ชิดค่ะ ข้อมูลส่วนใหญ่นำมาจากวิกิพีเดีย