ปรับเพื่อหนีตาย/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ตอบกลับโพส
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
กระทู้: 1243
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ ก.ค. 11, 2012 10:42 pm

ปรับเพื่อหนีตาย/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ โดย Thai VI Article » อังคาร เม.ย. 24, 2018 11:27 am

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ข่าวการล้มหายตายจากขององค์กรธุรกิจต่างๆมีเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และไม่ได้เพิ่มขึ้นเฉพาะภายในประเทศ แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และปัจจัยที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ก็เป็นปัจจัยร่วม

    ปัจจัยนั้นคือ การปรับเปลี่ยนที่ไม่ทันการณ์

    ความจริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกอย่างไรที่ธุรกิจจะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ซึ่งคือ ความไม่เที่ยง แต่ธุรกิจสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวได้ หากมีความสามารถในการปรับตัว

    การปรับตัวที่พูดถึงกันมากในช่วงที่ผ่านมาคือการปรับแบบเปลี่ยนรูป ที่เรียกว่า “Transformation” ซึ่งมีหลายด้าน มีทั้ง ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ ปรับแบบนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้ ปรับขบวนการทางการตลาด (ตั้งแต่ปรับสินค้า ปรับราคา ปรับช่องทางการขาย ปรับการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ฯลฯ) ปรับขบวนการผลิต ปรับการบริหารจัดการ ปรับเปลี่ยนกลุ่มลูกค้า ปรับแนวคิดและการทำงาน ไปจนถึงปรับเปลี่ยนผู้บริหาร หรือปรับเปลี่ยนเจ้าของ

    ไม่ว่าจะปรับอะไร หากเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ก็ถือเป็น “การปรับแบบเปลี่ยนรูป” ได้ทั้งสิ้น หากการปรับนั้นเป็นการปรับที่มองในองค์รวม พิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสภาวะแวดล้อมให้ครบถ้วน พิจารณาความเสี่ยง ดำเนินการ และติดตามผลเพื่อนำไปปรับต่อ

    มีบริษัทที่ปรึกษาและนักวิชาการ รับจ้างเป็นที่ปรึกษาการปรับเปลี่ยนองค์กรจำนวนมาก แต่ละค่ายก็จะมีหลักการ กระบวนการ และวิธีการดำเนินการของตนเอง แต่ผู้ที่จะนำไปทำเพื่อให้เกิดผล ยังต้องเป็นผู้บริหารขององค์กรอยู่ดี  วันนี้ดิฉันขอนำเสนอแนวคิดหลักๆ เพื่อจุดประกายความคิดให้ท่านผู้อ่าน เผื่อจะนำไปปรับใช้ค่ะ

    มาถึงภาพใหญ่คือการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจก่อนนะคะ

    ค่ายมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้นำเสนอ การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ เอาไว้ใน วารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนตุลาคม 2559 ว่า รูปแบบธุรกิจ คือระบบที่มีคุณลักษณะต่างๆมากมายและซับซ้อน ทำงานร่วมกัน โดยผลที่ออกมาคือสิ่งที่จะทำให้บริษัทประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งรูปแบบธุรกิจนี้ ถูกปรับไปตามกาลเวลา

    ผู้เขียนบทความนี้ วิเคราะห์ว่า มี 6 ปัจจัยที่เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ คือ 1. สินค้า หรือ บริการที่มีความเฉพาะตัวมากขึ้น ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่สามารถทำได้โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย 2. การใช้กระบวนการปิด หมายถึง แทนที่จะผลิตสินค้า ใช้สินค้า และทิ้งสินค้า ก็เปลี่ยนเป็น การสามารถนำสินค้ามาใช้ใหม่ได้ เพื่อเป็นการลดการใช้ทรัพยากร 3. การแบ่งปันการใช้สินทรัพย์ เราไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของสินทรัพย์เอง แต่เราสามารถแบ่งปันการใช้สินทรัพย์ได้ตลอดห่วงโซ่อุปทานของเรา และก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งกับผู้ใช้บริการ และผู้มีสินทรัพย์แต่ไม่ได้ใช้งานตลอดเวลา 4. การตั้งราคาตามการใช้งาน  ทำให้ลูกค้าใช้งานได้คุ้มค่าและประหยัดเงินได้มากขึ้น  5. มีระบบนิเวศน์แบบร่วมแรงร่วมใจกันมากขึ้น ทั้งฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขาย จะช่วยลดต้นทุนของลูกค้า และช่วยเพิ่มคุณค่าของสินค้าหรือบริการ และ 6. เป็นองค์กรที่คล่องแคล่วว่องไว ปรับตัวได้ดี จะช่วยให้สามารถนำเสนอสินค้าหรือบริการแก่ลูกค้าได้อย่างมีคุณค่าขึ้น ในต้นทุนที่ลดลง

    ซึ่งเมื่อเราเห็นโจทย์และโอกาส เราก็จะสามารถเชื่อมโยง ปรับปรุง หรือนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้ในการนำเสนอสินค้า หรือบริการได้

    จากการสำรวจของ บอสตันคอนซัลติ้งกรุ๊ป หรือ บีซีจี ซึ่งอยู่ในเอกสาร Transformation : Delivering and Sustaining Breakthrough Performance เมื่อปี 2559 พบว่า ในบรรดาการปรับปรุงด้านต่างๆของธุรกิจนั้น การปรับปรุงองค์กร เป็นการปรับเปลี่ยนที่มีจำนวนองค์กรตั้งใจจะทำมากที่สุด ถัดไปเป็นเรื่อง การปรับเรื่องการเงิน การปรับเปลี่ยนการดำเนินงาน การปรับโครงสร้าง การปรับเพื่อเติบโต การปรับรูปแบบธุรกิจ การปรับระบบสนับสนุน การปรับการค้า การปรับด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การปรับด้านดิจิตัล การปรับขยายธุรกิจไประดับโลก การปรับเปลี่ยนด้านอื่นๆ และการปรับปรุงนวัตกรรมและ R&D

    เข้าใจว่าเพราะส่วนใหญ่พยายามทำเรื่องนวัตกรรมและ R&D อยู่แล้ว จึงอาจจะดูว่าไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไร เพียงแต่เร่งทำให้เสร็จ ออกมาใช้ให้เร็วขึ้น

    สำหรับอุปสรรคและข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการปรับเปลี่ยนของธุรกิจต่างๆนั้น ทางบีซีจี รวบรวมเอาไว้ดังนี้

    ข้อผิดพลาดในช่วงแรก คือ ตั้งเป้าหมายไว้ต่ำเกินไป หรือสูงเกิน  พยายามไปมุ่งเน้นการลดจำนวนพนักงาน หรือลดต้นทุน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่แคบเกินไป และไม่ได้วัดผลหรือติดตามความก้าวหน้าของโครงการ

    ในช่วงกลางๆของการปรับเปลี่ยน ก็มีข้อผิดพลาดอีกคือ ประกาศชัยชนะเร็วเกินไป พยายามมุ่งเน้นประสิทธิภาพก่อนมาตรการอื่นๆ และ ที่แย่คือ สักพักก็กลับไปทำตามที่เคยทำ

    ส่วนข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นกันมากในช่วงท้ายๆของการปรับเปลี่ยน คือ พยายามบังคับพนักงานให้ปรับเปลี่ยนมากเกินไป และมุ่งเน้นไปสู่เส้นชัยมากจนไม่คำนึงถึงการสร้างขีดความสามารถ ซึ่งจำเป็นในการเดินหน้าต่อไปในระยะยาว

    หวังว่าท่านคงจะพอเห็นภาพนะคะ และไม่ต้องเสียใจหากไม่สามารถปรับเปลี่ยนเองได้ เพราะทางบีซีจี รวบรวมสถิติเอาไว้ว่า 70% ของผู้ที่ประกาศว่าจะปรับเปลี่ยน จะประสบความล้มเหลว หรือไม่สามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดได้ตามที่ตั้งเอาไว้ นั่นเป็นสาเหตุที่องค์กรที่ต้องการปรับเปลี่ยนส่วนใหญ่จะใช้บริการของที่ปรึกษาค่ะ
[/size]



ตอบกลับโพส