บทเรียนจากสตาลินกราด/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ตอบกลับโพส
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
กระทู้: 1243
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ ก.ค. 11, 2012 10:42 pm

บทเรียนจากสตาลินกราด/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ โดย Thai VI Article » อาทิตย์ ก.ค. 22, 2018 11:18 am

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    ในช่วงการแข่งขันบอลโลกที่รัสเซียนั้น  สถานที่แห่งหนึ่งที่ใช้เป็นสนามแข่งขันก็คือ Volgograd Arena ในเมือง Volgograd เมืองทางใต้ของรัสเซียซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ Volga  เมืองนี้เป็นเมืองสำคัญและมีประวัติที่เก่าแก่ยาวนานกว่าสี่ร้อยปีและมีการเปลี่ยนชื่อมาหลายครั้ง  แต่สำหรับคนที่สนใจประวัติศาสตร์สงครามอย่างผมนั้น  ช่วงที่น่าสนใจที่สุดก็คือช่วงที่เมืองนี้มีชื่อว่า “Stalingrad”ตามชื่อของโจเซฟ สตาลิน ผู้นำเผด็จการยุคที่รัสเซียยังเป็นสหภาพโซเวียตที่เป็นคอมมิวนิสต์และกำลังต่อสู้กับเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง  เหตุผลก็เพราะว่าการรบเพื่อชิงเมืองสตาลินกราด หรือ  “ศึกสตาลินกราด” นั้น  ถือว่าเป็นการรบที่ดุเดือดและยิ่งใหญ่ที่สุดของสงครามโลกครั้งที่สองและน่าจะของโลกด้วย  เพราะการรบในครั้งนั้นน่าจะมีการสูญเสียทหารและพลเรือนทั้งสองฝ่ายถึงประมาณ 2 ล้านคนและถือเป็น “จุดเปลี่ยน” ของสงครามที่เยอรมันซึ่งเป็นฝ่ายได้ชัยชนะอย่างรวดเร็วมาตลอด  กลายเป็น “ผู้แพ้”  กลยุทธ์การรบแบบ “สายฟ้าแลบ”  ที่สร้างความสำเร็จใหญ่หลวงให้กับเยอรมันนั้นเปลี่ยนเป็นความล้มเหลวเมื่อถูกตลบกลับด้วย “สงครามยืดเยื้อ” ที่ถูกวางแผนไว้เป็นอย่างดี

    การบุกเข้ายึดรัสเซียหรือการรุกทางด้านตะวันออกของเยอรมันหลังจากที่สามารถยึดฝรั่งเศสและประเทศส่วนใหญ่ทางด้านตะวันตกไว้ได้แล้วนั้น   เยอรมันหวังที่จะยึดครองแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ซึ่งรวมถึงอาหาร  น้ำมัน และเหล็กของรัสเซีย  ฮิตเลอร์เชื่อว่าถ้าครองรัสเซียได้เยอรมันก็จะมีพร้อมทุกอย่างที่จะเป็น  “จ้าวโลก”  เขากำลังมีความฮึกเหิมถึงขีดสุดและเชื่อมั่นในแสนยานุภาพของเยอรมันในขณะที่ “ดูแคลน” คนรัสเซียและรังเกียจคอมมิวนิสต์อย่างสุดโต่ง  เขาคิดว่าเขาสามารถเอาชนะรัสเซียได้โดยง่าย  กองทัพเยอรมันที่บุกรัสเซียนั้นแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือทัพทางเหนือที่บุกเข้าตีเมือง “เลนินกราด” หรือเซ้นต์ปีเตอร์สเบิร์กในปัจจุบัน  ทางตอนกลางคือทัพที่เข้าตีมอสโก  และทางตอนใต้ก็คือสตาลินกราดซึ่งเป็นทางผ่านไปสู่แหล่งของข้าวสาลี  น้ำมัน และเหล็กของรัสเซีย   การบุกเข้าสู่ประเทศที่ใหญ่มาก แต่ละจุดห่างกันเป็นพัน ๆ  กิโลเมตรทำให้กำลังพลและยุทโธปกรณ์ของเยอรมันต้องกระจายออกไปมาก  เส้นทางส่งกำลังบำรุงเต็มไปด้วยอุปสรรคโดยเฉพาะในฤดูหนาว  แต่ฮิตเลอร์คิดว่าเขาคงยึดรัสเซียได้โดยเร็ว

    กองทัพเยอรมันบุกเข้าประชิดชานเมืองสตาลินกราดทางด้านตะวันตกได้โดยง่าย  ด้านตะวันออกของเมืองคือแม่น้ำโวลกาที่กว้างใหญ่ที่ขัดขวางการถอยหรือหนีของทหารและพลเมืองของสตาลินกราด  แต่ก็กลายเป็นแหล่งที่รัสเซียสามารถส่งกองหนุน  อาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงข้ามแม่น้ำเข้าสู่เมืองเพื่อที่จะต้านทานและประวิงเวลากองทัพเยอรมันที่กำลังบุกเข้ายึดเมืองได้   ณ. เวลานั้น  คำสั่งของฮิตเลอร์ก็คือต้องยึดเมืองให้ได้โดยเร็ว  ฮิตเลอร์คลั่งไคล้ที่จะยึด “เมืองมงกุฎ” ของฝ่ายศัตรูโดยมีปารีสเป็นตัวอย่าง  ส่วนสตาลินเองนั้น  เขารับไม่ได้กับการเสียเมืองที่เป็น “ชื่อของตัวเอง” ให้กับข้าศึก  ดังนั้น  เขาสั่งให้ทุกคน  “สู้ตาย”  ทหารที่ถอยหรือหนีข้ามแม่น้ำโวลกาจะถูกประหาร  สงครามแห่งศักดิ์ศรีกำลังระเบิดขึ้น

    เยอรมันเริ่มด้วยการส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดซึ่งทำลายอาคารและเมือง “ราบเป็นหน้ากลอง”  แต่นั่นอาจจะเป็นการช่วยให้รัสเซียสามารถต้านทานกองทัพเยอรมันได้นานขึ้น  เพราะรัสเซียกระจายกำลังและยึดอาคารที่ถูกทำลายเหล่านั้นทำสงครามจรยุทธ์  กองทัพรถถังอันทรงพลังและการรุกรบอย่างรวดเร็วทำไม่ได้ในเมืองที่มีแต่ซากอาคารเต็มไปหมด  ทหารเยอรมันต้องแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ  เข้าไปเคลียร์ตึกทีละตึกในขณะที่ทหารรัสเซียยึดตึกเหล่านั้นเป็นที่กำบังและยิงข้าศึกด้วยปืนประจำตัวในระยะประชิดรวมทั้งสามารถวางกับระเบิดตลอดทางเพราะได้เปรียบที่รู้จักภูมิประเทศและสถานที่ดีกว่า  ทำให้ความได้เปรียบของเยอรมันหมดไป  รถถังและเครื่องบินไม่มีประโยชน์  การรบยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คิดไว้มาก  อย่างไรก็ตาม  ความเชี่ยวชาญและความพร้อมในการรบของเยอรมันก็ยังเหนือกว่ามากไม่ต้องพูดถึงจำนวนทหารที่เยอรมันมีกว่า 2 แสนคนในขณะที่ฝ่ายรัสเซียมีแค่ 5 หมื่นและอาวุธยุทโธปกรณ์รวมถึงความสามารถในการรบก็เป็นรองอยู่มาก  ไพร่พลจำนวนมากก็เป็นเด็กเพิ่งเรียนจบและเป็นผู้หญิง   ในที่สุดฝ่ายรัสเซียก็ต้องถอยร่นไปติดอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ  กองทัพเยอรมันกำลังจะเข้าบดขยี้และยึดเมืองสตาลินกราดไว้ในกำมือ  แต่แล้วทุกอย่างก็พลิกผัน

    เบื้องหลังฉากของ “สงครามหนู” ภายในเมืองสตาลินกราดนั้น  แม้แต่ผู้บัญชาการกองทัพของรัสเซียในเมืองก็ไม่รู้ว่าสตาลินกับชูคอฟแม่ทัพใหญ่ของรัสเซียได้วาง “แผนลวง” ที่จะต่อสู้กับเยอรมันไว้ก่อนแล้ว   แผนนั้นก็คือ  รัสเซียจะใช้กำลังทหารจำนวนน้อยที่สุดที่จะหน่วงเวลารักษาเมืองไว้จนฤดูหนาวมาถึง  ในระหว่างนั้นรัสเซียก็ระดมกำลังนับล้านคนเข้า “ตีโอบ” จากทางปีกเหนือและใต้ซึ่งกองทัพฝ่ายเยอรมันที่ป้องกันอยู่นั้นเป็นกองกำลังของพันธมิตรซึ่งประกอบไปด้วยทหารโรมาเนีย ฮังการีและอิตาลี ซึ่งอ่อนด้อยกว่าทหารเยอรมันมาก  เช่นเดียวกัน  รถถังของเยอรมันที่เคยทรงพลังนั้นก็ “สตาร์ทไม่ติด” เพราะความหนาวและขาดแคลนน้ำมัน  ผลก็คือ  ทหารสองกองทัพจากทางเหนือและใต้ของฝ่ายรัสเซียสามารถเคลื่อนทัพเข้ามาบรรจบกันเป็น  “คีมเหล็ก”  ปิดล้อมกองทัพของเยอรมันในเมืองสตาลินกราดเอาไว้ได้อย่างสิ้นเชิง   ขณะนี้คนที่ล้อมกลายเป็นฝ่ายที่ถูกล้อม  แม่ทัพเยอรมันร้องขอถอนกำลังโดยการตีฝ่าออกทางเหนือแต่ฮิตเลอร์ปฎิเสธ  คนอย่างฮิตเลอร์นั้นคงมีศักดิ์ศรีมากเกินกว่าที่จะยอมรับความพ่ายแพ้  เขาสั่งให้สู้ต่อและบอกว่าจะใช้กำลังทางอากาศส่งเสบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้  ซึ่งนั่นน่าจะเป็นการหลอกตัวเองอย่างใหญ่หลวง  เพราะด้วยจำนวนของทหารระดับ 2-3 แสนนายและอยู่ไกลขนาดนั้น  มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้  ในที่สุดแม่ทัพเยอรมันก็ต้องประกาศยอมแพ้เองหลังจากที่เสียทหารไปมหาศาล  กองทัพทั้งกองทัพ “ละลาย” อย่างสิ้นเชิง  พลังการรบของเยอรมันเสียหายขนาดแทบจะหมดสภาพ  ศึกต่อไปของรัสเซียก็คือ  “เบอร์ลิน”

    บทเรียนจากสตาลินกราดของผมก็คือ  การรบนั้นคือการต่อสู้ที่รุนแรงที่ไม่เคยปราณีใคร  กลยุทธ์ที่แต่ละคนหรือแต่ละฝ่ายใช้นั้น  เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ชนะหรือแพ้  ความคิดและอารมณ์มีส่วนสำคัญต่อกลยุทธ์และการต่อสู้  ความมั่นใจเกินไปโดยที่ไม่ได้ไตร่ตรองให้รอบคอบและคำนึงถึงความเสี่ยงน้อยเกินไปมักจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้และความผิดพลาดนั้นสามารถก่อให้เกิดหายนะที่รุนแรง   สงครามแบบฉบับของฮิตเลอร์ที่ใช้การรุกรบที่รวดเร็วและรุนแรงอาศัยอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทรงพลังอย่างรถถังและเครื่องบินนั้น  ในช่วงแรกก่อให้เกิดความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงเอาชนะฝ่ายตรงข้ามอย่างง่ายดายซึ่งก่อให้เกิดความมั่นใจถึงความสามารถของตนเองจนเกินความเป็นจริงและทำให้เขารุกต่อไปเรื่อย ๆ  และลืมพลังของฝ่ายตรงข้ามรวมถึงอุปสรรคและความเสี่ยงที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ    นี่เปรียบไปแล้วก็คล้าย ๆ  กับนักลงทุนที่เน้นการเล่นหุ้นในแบบ “สายฟ้าแลบ”  เข้าระดมซื้อหุ้นแบบกวาดซื้อพร้อม ๆ  กับการใช้ “เครื่องมือ”  ที่ทรงพลังซึ่งรวมถึงบล็อกเทรด  มาร์จิน  ดีลิเวอร์ทีฟวอแรนต์ และอื่น ๆ  รวมถึงการ “ถล่ม”  ด้วย “สตอรี่”  หรือเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นที่รุนแรงเพื่อให้คนซื้อตาม  สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้หุ้นปรับตัวขึ้นอย่างมโหฬารทำกำไรอย่างมหาศาลในเวลาอันสั้น  เขาเข้า “Corner” หุ้นอย่างสิ้นเชิง  คล้าย ๆ  การปิดล้อมสตาลินกราดในวันสุดท้าย

    แต่แล้วก็เขาก็อาจจะ “ช็อค” ที่อยู่ ๆ  สิ่งที่เขาทำแล้วประสบความสำเร็จมาตลอดนั้นกลับหวนกลับมาทำร้ายเขาเองอย่างคาดไม่ถึง  หุ้นที่ถูกคอร์เนอร์ไว้  “แตก” หุ้นถูกฟอร์ซเซลหรือถูกขายโดยไม่คำนึงถึงราคาและมันมาจาก “ทุกทิศ”  สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยที่เขาไม่เคยคิดและไม่เคยวิตกเพราะเขาเคยทำและประสบความสำเร็จ  ไม่มีอะไรที่นอกเหนือไปจากการควบคุมของเขาได้  เขามีความมั่นใจในตัวเองและในศักยภาพของหุ้น  แต่นั่นก็อาจจะเกินไปและไม่จริง  อาจจะคล้าย ๆ  กับฮิตเลอร์ที่ยอมตายไม่ยอมถอยและคิดว่าเยอรมันนั้นเป็นชนชาติที่เหนือกว่าคนอื่นและเขาเองเป็นสุดยอด  เป็นผู้นำ  เป็นเซียน!  ผมเองไม่แน่ใจว่าการปรับตัวครั้งใหญ่ของหุ้นเล็กและกลางของตลาดหุ้นไทยในครั้งนี้กระทบกับนักลงทุนที่เข้าไปเล่นหุ้นเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหนในภาพรวมของเขา  แต่ดูแล้วก็คงเจ็บปวดไม่น้อย  ได้แต่หวังว่ามันจะไม่รุนแรงขนาดเท่ากับศึกสตาลินกราด  และไม่ว่ากรณีไหน  ก็น่าจะเป็น  “บทเรียน”  สำหรับทุกคนที่อยู่ในตลาดหุ้นหรือแม้แต่ในธุรกิจว่า  อย่ามั่นใจตนเองมากเกินไป  ทำอะไรก็ตาม  คิดถึงความเสี่ยงเสมอ  อย่าคิดแต่ว่าเราจะ “กินเงินคนอื่น” ได้ฝ่ายเดียว  เราอาจจะเป็นฝ่ายที่ “ถูกกิน” ก็ได้  โดยเฉพาะถ้าเราเล่นเกมหรือรบแบบ “สายฟ้าแลบ”
[/size]



ตอบกลับโพส