เศรษฐกิจจะไปทางไหน...

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก
ล็อคหัวข้อ
ECON

เศรษฐกิจจะไปทางไหน...

โพสต์ โดย ECON » อาทิตย์ มิ.ย. 13, 2004 10:52 pm

คนไทยใช้น้ำมันแพงอีก 3 ปี ผู้บริโภคช็อกลงทุนชะงัก
รัฐหมดแรงอุ้มยอมปล่อยเบนซินปรับราคา แต่ยังกัดฟันตรึงดีเซลต่อ ส่งผลความเชื่อมั่นอุตฯลดวูบ สภาอุตฯคาดภาคการผลิต-ลงทุนชะงัก ขณะที่นักการตลาดผวาผู้บริโภคหมดอารมณ์จับจ่าย ส่วนค่ายรถหรูยังมั่นใจไม่กระทบลูกค้าระดับบน สถาบันปิโตรเลียมฟันธงถึงยุคน้ำมันแพงคาดคนไทยจ่ายแพงยาว ชดใช้เงินคืนกองทุนไม่ต่ำกว่า 3 ปี

แม้ในการพบปะกับตัวแทน 11 สมาคมธุรกิจเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2547 ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะกล่าวกับบรรดานักธุรกิจชั้นนำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าปัญหาความไม่แน่ นอนจากอัตราดอกเบี้ย และที่สำคัญที่สุดคือราคาน้ำมัน จะยังไม่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนโอกาสในการขยายธุรกิจการลงทุนในประเทศไทยก็ตาม

แต่ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นหลังจากกระทรวงพลังงานเปิดไฟเขียวให้ปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 60 สตางค์/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย. 2547 ก็คือผู้ใช้น้ำมัน ผู้บริโภคทั่วไปเริ่มหันมากังวลกับภาระค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้น และแม้รัฐบาลจะยังคงยืนยันที่จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลเพื่อไม่ให้กระทบต้นทุนการผลิตโดยรวม แต่ปัจจัยจากราคาน้ำมันก็กำลังกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ทั้งในภาคผู้ผลิตสินค้าและผู้บริโภคในขณะนี้

- ภาคการผลิต-ลงทุนชะงัก

ความเชื่อมั่นอุตฯลดวูบ

ข้อมูลที่สำคัญซึ่งยืนยันถึงผลกระทบของสถานการณ์ราคาน้ำมันต่อภาคการผลิตอย่าง ชัดเจนก็คือ รายงานสรุปที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2547 ผลปรากฏว่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 98.2 ซึ่งต่ำกว่า 100 และเป็นค่าต่ำสุดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และขนาดกลางไม่ดีนัก จากเหตุผลเรื่องของราคาวัตถุดิบและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นมาโดยตลอด และสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ยิ่งไปกว่านั้น รายงานของ สอท.ยังคาดการณ์ด้วยว่า หากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องไปอีก 3-5 เดือน ทาง สอท.เชื่อว่าจะกระทบต่อแผนการผลิตและการลงทุนของประเทศ ดังนั้นปัจจัยที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดก็คือ มาตรการลดผลกระทบจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันและการคลี่คลายปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นตัวแปรที่สำคัญต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการมากที่สุด

ขณะที่นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็ให้สัมภาษณ์ยอม รับว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2547 การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมลดลงต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ แต่ยังไม่ถือเป็นปัญหาที่ร้ายแรง และยังหวังว่านอกจากอุตสาหกรรมอาหารที่มีปัจจัยกระทบหลายๆ เรื่องแล้ว อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่แนวโน้มยังคงสดใสอย่างยานยนต์ หรือปิโตรเคมี ก็น่าจะขยายตัวดีขึ้นในไตรมาสต่อไป

พาณิชย์กร้าวห้ามขึ้นราคา

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลประกาศปรับราคาน้ำมันเบนซินอีก 60 สตางค์ต่อลิตร กรมการค้าภายในยืนยันว่าจะไม่รับพิจารณาข้อเสนอของผู้ประกอบการรายใดที่จะใช้ข้ออ้างดังกล่าวในการปรับราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค เพราะการขึ้นราคาน้ำมันเบนซินไม่กระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า และจะกระทบการขนส่งสินค้าเพียงเล็กน้อย อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า เจ้าหน้าที่กรมการค้าภายในทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัดได้ออกตรวจสอบราคาสินค้าทั้งห้างสรรพสินค้าและตามตลาด สดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้าว่าอย่าเพิ่งปรับราคาเพิ่มขึ้นในขณะนี้

สหพัฒน์ชี้คนเริ่มประหยัด

นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธาน เครือสหพัฒน์ เปิดเผยว่า ต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งมีผลกระทบต่อกำลังการผลิตของบริษัทและราคาสินค้าโดยตรง แต่ทางเครือสหพัฒน์ยืนยันที่จะไม่ขึ้นราคาสินค้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข่งขันในธุรกิจนี้ทำให้ผู้ผลิตไม่กล้าปรับขึ้นราคาในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม เครือสหพัฒน์ประเมินผลจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันว่า จะเป็นตัวสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูง อาทิ บ้านพักอาศัย รถยนต์ ซึ่งมียอดขายเติบโตในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสูง และเชื่อว่าผู้บริโภคจะชะลอการใช้เงิน อนาคตหันมาประหยัด ใช้เงินเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น

หวั่นผู้บริโภคใจฝ่อหยุดช็อป

การปรับราคาน้ำมันเบนซินเป็นครั้งที่สองอีก 60 สตางค์ เป็นประเด็นหนึ่งที่นักการตลาดต่างเฝ้ามองด้วยความสนใจ เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่ออารมณ์การจับจ่าย เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นจะทำให้คนรู้สึกประหยัดการใช้จ่ายในเรื่องอื่นๆ ตามไปด้วย

สอดคล้องกับที่นางลักขณา ลีละยุทธโยธิน นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดคงเป็นเรื่องของอารมณ์ในการจับจ่ายใช้สอยที่อาจจะชะงักงันไปบ้าง และทำให้ผู้ประกอบการต้องหากลยุทธ์เด็ดๆ ออกมามัดใจลูกค้ามากขึ้น

รายงานข่าวจากบริษัท จีเอฟเค มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทวิจัยตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า ระบุว่า ราคาน้ำมันคงกระทบกับอารมณ์การจับจ่ายใช้สอยบ้าง แต่เชื่อว่าคงจะไม่กระทบต่อมูลค่าตลาดรวมมากนัก ทั้งนี้ผู้ผลิตคงต้องปรับตัวด้วยการออกแคมเปญการตลาดออกมาแก้เกมอย่างต่อเนื่อง

- ค่ายรถไม่ห่วงกระทบกำลังซื้อ

นายฉัตวิทัย ตันตราภรณ์ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท เดมเลอร์ไครสเลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การขึ้นภาษีรถยนต์เกินกว่า 2500 ซีซี ประเด็นนี้ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อภาวะการขายในตลาดรถยนต์หรูหราแต่อย่างไร เพราะรถยนต์กลุ่มนี้มีจำนวนไม่เยอะ หลักๆ ก็มี อี-คลาสบางรุ่น และเอส-คลาส ซึ่งกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีกำลังซื้อทั้งสิ้น

นายฉัตวิทัยกล่าวว่า ราคาน้ำมันเบนซินที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องน่าจะมีผลต่อการเลือกซื้อรถยนต์ของลูกค้ามากกว่า โดยระยะหลังสัดส่วนการเลือกซื้อรถจะมุ่งไปที่การเลือกซื้อรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลมากขึ้น (อ่านเครื่องดีเซลขายกระฉูด หน้า 45)

เช่นเดียวกับนายอดิศักดิ์ หวังพงษ์สวัสดิ์ รองประธาน บริษัท ฟอร์ด ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า การหามาตรการเพื่อรับมือกับปัญหาน้ำมันราคาสูงขึ้น ค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่เตรียมรับมือกันไว้แล้วทั้งสิ้น จะเห็นว่าที่ผ่านมารถเอสเคปของฟอร์ดจะมีเครื่องยนต์ใหญ่ขนาด 3000 ซีซี แต่ตอนนี้ฟอร์ดได้ลอนช์เอสเคปใหม่ เครื่องยนต์ 2.3 ลิตร ซึ่งเหมาะจะเป็นรถเอสยูวีเพื่อใช้ในเมืองหลวง (ซิตี้เอสยูวี) ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงานได้มาก

- ชี้กระทบผู้บริโภคในเมือง

ในรายงานภาวะเศรษฐกิจล่าสุดของ บล.ภัทร เกี่ยวกับผลกระทบที่ไทยได้รับจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ระบุว่า ราคาน้ำมันค้าปลีกในไทยจำเป็นที่จะต้องปรับเพิ่มขึ้นอีก 20% ถึงจะเท่ากับระดับราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยปัจจุบันไทยมีการบริโภคน้ำมันอยู่ที่ 20 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งถ้าคิดจากสมมติ ฐานดังกล่าว ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น 3.50 บาท จะทำให้ผู้บริโภคมีต้นทุนคิดเป็น 13 พันล้านบาทในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ซึ่งจำนวนดังกล่าวคิดเป็นเพียง 0.36% ของจำนวนการใช้น้ำมันโดยรวม ดังนั้น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจึงคาดว่าจะตกอยู่กับคนในเมืองมากกว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ

อย่างไรก็ดี ขณะทีมีการปรับราคาน้ำมันเบนซินขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป รัฐบาลไม่ได้ปรับราคาน้ำมันดีเซลที่จะมีผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างกว่าขึ้นแต่อย่างใด โดยรัฐบาลจะต้องใช้เงินในการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลอีกประมาณ 18 พันล้านบาท สำหรับเวลาที่เหลือจนถึงสิ้นปี 2547 นี้ โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ราคาน้ำมันโลกไม่มีการเปลี่ยนแปลง

อนึ่ง สัดส่วนการใช้พลังงานทั้งหมดของไทยคิดเป็น 12.5% ของมูลค่าจีดีพี ขณะที่ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบคิดเป็นมูลค่าประมาณ 6% ของจีดีพี

- สถาบันปิโตรเลียมเตือน

หมดยุคน้ำมันราคาถูก

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานการสัมมนาเป็นการภายในของสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ "สถานการณ์ราคาน้ำมัน" ในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ จากผลการศึกษาของสถาบันพบว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับฐานเพิ่มขึ้นจากเดิมถึงร้อยละ 39 โดยเมื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงที่ผ่านมา ราคาฐานก่อนปี 2000 จะอยู่ที่ 18 เหรียญ/บาร์เรลเท่านั้น ในขณะที่ราคาฐานตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาราคามาแตะอยู่ที่ 25-30 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งในระยะยาวต่อจากนี้ไปราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะไม่ลงมาแตะที่ระดับที่ต่ำกว่า 25 เหรียญ/บาร์เรลแน่นอน และได้ถือราคานี้เป็นราคา "ปกติ" หรือ "normal price" ไปโดยปริยาย

- คาดคนไทยจ่ายแพงยาว

เงินคืนกองทุนไม่ต่ำกว่า 3 ปี

นายวีระพล จิระประดิษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า การปรับฐานราคาน้ำมัน หรือการประกาศลอยตัว ถือเป็นมาตรการที่ควรนำมาใช้เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงว่าราคาน้ำมันควรอยู่ที่ 20 กว่าบาท/ลิตร ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนเกิดการตระหนักว่า ถึงเวลาที่จะต้องประหยัดน้ำมันกันแล้ว แต่จะไม่ส่งผลกระทบในแง่การแข่งขันในเชิงธุรกิจกับต่างประเทศ เพราะทั่วโลกต่างปรับฐานราคาเช่นกัน ทั้งนี้ข้อดีของการขึ้นราคาน้ำมันก็คือ การพัฒนาเทคโนโลยีในการใช้พลังงานทดแทน จะส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตต่ำลงมาในระดับหนึ่งจากเดิมอยู่ที่ 40 เหรียญ

ทั้งนี้หากภาครัฐยังคงใช้มาตรการในการตรึงราคาน้ำมันต่อไปจะยิ่งแบกภาระไว้ที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ ณ ปัจจุบันติดลบอยู่ทั้งสิ้น -8,800 ล้านบาท และยิ่งจะทำให้ประชาชนใช้น้ำมันแพงในราคา 17-18 บาท/ลิตรไปอีก 2-3 ปีหรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่ กับว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะเป็นอย่างไร แต่ตามการคาดการณ์จากหลายฝ่ายพบว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะยังคงยืนที่ระดับ 35-40 เหรียญ/ บาร์เรลต่อไปอีกนาน

"ขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงระบุแนวทางการปฏิบัติการเก็บคืนเงินจากประชาชนในกรณีที่ราคาน้ำมันเบนซินลดลงมากกว่า 37 เหรียญ/บาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลงมากกว่า 34 เหรียญ/บาร์เรล ยิ่งชี้ให้เห็นว่ากองทุนน้ำมันจะไม่ได้เงินคืนภายในเวลา 2-3 ปีข้างหน้านี้ ที่สำคัญจะเกิดการบิดเบือนทางด้านต้นทุนทั้งในภาคอุตสาหกรรมหรือแม้กระทั่งภาคเกษตรกรรมต่อไปอีก" นายวีระพลกล่าว



ECON

โพสต์ โดย ECON » อาทิตย์ มิ.ย. 13, 2004 10:57 pm

หนี้ประชาชนพุ่งกระฉูด ไตรมาสแรก1.1แสนบาท/ครัวเรือน
ล้อมกรอบสัมภาษณ์

ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนของไทย กำลังเป็นปัญหาของผู้เป็นหนี้ทุกคนว่าจะมีวิธีการบริหารจัดการอย่างไร โดยเตรียมการรองรับภาระที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นแล้วหรือยัง

ในช่วงที่ผ่านมาจากการที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ประชาชนมีการสร้างหนี้เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่สถาบันการเงินและไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) โหมเจาะตลาดสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต แทนการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ ทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่าย

ล่าสุด จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยตัวเลขภาระหนี้สินภาคครัวเรือนในไตรมาส ที่ 1 ปี 2547 ได้เพิ่มจำนวนขึ้นจาก 82,485 บาทต่อครัวเรือน ในปี 2545 เป็น 110,133 บาทต่อครัวเรือน แบ่งเป็นหนี้สินเพื่อใช้ซื้อ/เช่าบ้านและที่ดิน 39,888 บาท คิดเป็น 36.22%, หนี้เพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน 27,692 บาท คิดเป็น 25.14%, หนี้เพื่อใช้ทำธุรกิจที่ไม่ใช่การเกษตร 22,029 บาท คิดเป็น 20%, หนี้เพื่อใช้ทำการเกษตร 16,221 บาท คิดเป็น 14.73% และอื่นๆ 4,302 บาท หรือ 3.91%

หากแยกตามอาชีพของผู้เป็นหนี้ จะพบว่าหนี้ของนักวิชาการ นักบริหาร มีจำนวนมากสุด เฉลี่ย 325,503 บาทต่อราย ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ รองลงมาเป็นหนี้ของผู้ที่ดำเนินธุรกิจด้วยตนเองที่ไม่ใช่การเกษตร จำนวน 188,169 บาทต่อราย, หนี้ของเสมียน พนักงาน จำนวน 93,498 บาทต่อราย, หนี้คนงานทั่วไป จำนวน 30,042 บาทต่อราย และหนี้ของเกษตรกร จำนวน 20,013 บาทต่อราย

นอกจากนี้ หากดูความสัมพันธ์ระหว่างรายได้กับการสร้างหนี้ จะพบว่าเมื่อประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นได้นำรายได้มาใช้ในการซื้อสินค้าเพื่ออุปโภคและบริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะประเภทสินค้าฟุ่มเฟื่อยที่ไม่จำเป็น จากตัวเลขหนี้สินครัวเรือนในปี 2539 ที่มีหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละ 52,001 บาท มีรายได้ครัวเรือนละ 129,348 บาท แต่มาปี 2541 ต่อครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 149,904 บาท แต่กลับมีหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นด้วย 69,674 บาท แม้ปี 2543 หนี้สินครัวเรือนเฉลี่ยจะมียอดลดลงบ้างเล็กน้อยเหลือ 68,405 บาท เพราะต่อครัวเรือนมีรายได้ต่ำลง 145,800 บาท แต่ในปี 2545 เมื่อครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 165,940 บาท หนี้สินครัวเรือนกลับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 82,485 บาท



วิกฤตหรือโอกาส

โพสต์ โดย วิกฤตหรือโอกาส » จันทร์ มิ.ย. 14, 2004 11:59 am

ง่ายมากเกมส์นี้
ถ้าสิ่งที่คุณเชื่อถูก คุณรวย
แต่ถ้าสิ่งที่อีกคนบอกถูกคุณเจ๊ง



ล็อคหัวข้อ