สถานการณ์น้ำมันโลกเข้าสู่วงจรวิกฤติ แนวโน้มอาจพุ่งไปถึง $50 /บาร์เรล สะท้อนสภาพเศรษฐกิจโลกยังไร้เสถียรภาพและตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่อาจชะลอตัวได้อีกครั้ง ชี้มูลเหตุสำคัญ ปัจจัยขาดกำลังการผลิตและปริมาณน้ำมันสำรอง ขณะที่ความต้องการในตลาดยังพุ่งสูง ด้านธนาคารกลางทั่วโลกต่างจับตาสถานการณ์ดอกเบี้ย ที่อาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศเพื่อชะลอภาวะเงินเฟ้อและหนี้สินผู้บริโภค
นายเจสัน เชนเกอร์ นักเศรษฐศาสตร์ภาคพลังงานของวาชโชเวีย ซีเคียวริตี้ คาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 50 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,000 บาท/บาร์เรล ในเร็วๆนี้ แม้จะมีสัญญาณจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ว่าพร้อมที่จะเพิ่มการผลิตน้ำมันรองรับความต้องการในตลาดโลกตามความจำเป็นก็ตาม
โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดนิวยอร์กที่กำหนดส่งมอบในเดือน ก.ย. ปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ระดับ 44.73 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,789 บาท/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในทะเลเหนืออยู่ในระดับสูงสุดที่ 41.35 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ1,654 บาท/บาร์เรล
นายเชนเกอร์ ระบุว่า การที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องต่อไป เป็นเพราะ ปัจจัยด้านลบที่บั่นทอนศักยภาพของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันที่ยังไม่คลี่คลายลง ทั้งปัจจัยภัยก่อการร้าย วการางระเบิดท่อส่งน้ำมัน, โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินของบริษัทน้ำมัน ยูคอสในรัสเซีย, และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในเวเนซูเอลา ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโอเปค ประกอบกับปัจจัยที่เคยเกื้อหนุนอุตสาหกรรมน้ำมัน เช่น กำลังการผลิตน้ำมันสำรอง, กำลังการกลั่นสำรอง และปริมาณน้ำมันสำรองในตลาดลดน้อยถอยลง ในขณะที่ ความต้องการบริโภคน้ำมันในตลาดยังอยู่ในระดับสูง
ขณะเดียวกันนักเศรษฐศาสตร์หลายฝ่ายได้ออกมากล่าวเตือนถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวลงจากผลกระทบราคาน้ำมัน โดย ดร. ฟาติฮ์ บิรอล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสำนักงานพลังงานสากล(ไออีเอ)กล่าวว่าราคาน้ำมันที่ 35 ดอลล่าร์สหรัฐจะตัดลดอัตรการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลง 0.50% ขณะที่สถานการณ์ตลาดหุ้นก็ตกต่ำลงทั่วโลกเช่นกัน โดยบิรอลกล่าวเสริมอีกว่าแม้ราคาน้ำมันจะลดลงแต่ราคาเฉลี่ยทั้งปีก็จะยังสูงกว่าที่ 35 ดอลล่าร์ซึ่งจะดึงให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลงกว่า0.50% โดยเฉพาะประเทศที่ต้องพึงการนำเข้าน้ำมัน โดยเฉพาะยุโรปและประเทศกำลังพัฒนาจะเผชิญความเสี่ยงมากที่สุด
ขณะที่ธนาคารกลางทั่วโลก ต่างก็จับตาดูการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันและบางแห่งได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว เช่น ธนาคารกลางอังกฤษปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปที่ 4.75% เพื่อหลีกเลี่ยงอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งควบคุมหนี้สินของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นไปถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน มิ.ย. และธนาคารกลางนิวซีแลนด์ ที่ปรับขึ้นไปแล้วก่อนหน้านั้นในช่วงปลายเดือน ก.ค. โดยปรับขึ้น 0.25% ไปอยู่ที่ 6.0% เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อของเศรษฐกิจประเทศด้วยเช่นกัน ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็มีแนวโน้มที่จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป หรือจากระดับ 1.25% ขึ้นไปอยู่ที่ 2.25% ปลายปีนี้
ด้านธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับ 2% ไว้เช่นเดิมแต่คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ได้ออกมาเปิดเผยว่า สมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ควรพิจารณาเพิ่มน้ำมันในคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ให้เพียงพอต่อการบริโภคเป็น 120 วันจาก 90 วัน และถ้าจำเป็นก็ควรจะสามารถนำน้ำมันในคลังสำรองดังกล่าวออกมาใช้ในภาวะวิกฤติ โดย นางโลโยลา เดอ ปาลาซิโอ กรรมาธิการพลังงานเชื่อว่า โครงการดังกล่าวซึ่งถูกคัดค้านในปีที่แล้วน่าจะถูกนำมาใช้อีกครั้งขณะที่ความมั่นคงด้านปริมาณน้ำมันของอียูเริ่มเปราะบางมากขึ้น
อย่างไรก็ตามด้านสหรัฐอเมริกานั้นผู้บริโภคเริ่มใช้จ่ายน้อยลงในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 3 ปี จากการที่ราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นโดยปริมาณการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือนดังกล่าว ได้ปรับตัวลดลง 0.7 % หลังจากที่เคยปรับตัวสูงขึ้น 1.0 % ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งการใช้จ่ายที่ชะลอตัวลงสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวลดลงของตัวเลขยอดขายรถยนต์ ขณะที่ยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือยก็ทรุดฮวบลงเช่นกัน นอกจากนี้ ตัวเลขค่าแรงในเดือนมิถุนายน ยังย่ำฐานทรงตัวในระดับเดิม หลังจากที่ได้ปรับตัวสูงขึ้น 0.6 % ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความซบเซาในตลาดแรงงานสหรัฐฯ
ขณะที่ นายจอห์น สโนว์ รมว.คลังสหรัฐออกมากล่าวว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นสูงมากเป็นปัจจัยลบ เพราะจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นอย่างยิ่ง ขณะที่นักวิเคราะห์ระบุว่า คำเตือนล่าสุดเกี่ยวกับการโจมตีสหรัฐนั้น นับเป็นภัยคุกคามเพียงเล็กน้อยต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ แต่ราคาน้ำมันที่ทะยานขึ้นอันเนื่องมาจากคำเตือนดังกล่าว นับเป็นความวิตกที่แท้จริง นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความต้องการใช้น้ำมัน ไม่ใช่การก่อการร้าย ความวิตกในตลาดเกี่ยวกับภาวะไร้เสถียรภาพในประเทศผู้ผลิตน้ำมันก็ได้ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น 4-10 ดอลลาร์/บาร์เรลแล้ว
"ถ้าคุณบอกว่า ค่าพรีเมียมความเสี่ยงอยู่ที่ 5 ดอลลาร์เนื่องจากการก่อการร้าย นั่นก็เท่ากับมูลค่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์เป็นอย่างต่ำที่จะกระทบต่อรายได้ของผู้บริโภคในสหรัฐหรือเท่ากับ 0.25 % ของจีดีพี ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก" นายลีเฮย์กล่าว
สำหรับสถานการณ์ในจีน รัฐบาลได้ออกมาประกาศตัดลดจำนวนพันธบัตรที่จะออกในปีนี้ลง 20% ตามมาตรการชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของประเทศและชะลอการบริโภคน้ำมัน โดยที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนสำหรับโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคไปกว่า 2,980 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 119,200 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 20% ของแผนที่จะระดมทุนในปี 2547 ทั้งสิ้นราว 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 520,000 ล้านบาท และให้ธนาคารแต่ละแห่งเพิ่มทุนสำรอง และระงับการอนุมัติการก่อสร้างโครงการใหม่ๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเหล็ก และอสังหาริมทรัพย์
ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่น ได้ออกมาเตือนประชาชนให้เตรียมรับมือกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในหลายๆ ประเทศ ซึ่งล่าสุด จากการปรับเพิ่มราคาน้ำมัน ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบของอุตสาหกรรมในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางกว่า 90% ของน้ำมันที่นำเข้าทั้งหมด ต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ต้องใช้วัตถุดิบอย่าง ยางสังเคราะห์, พลาสติก, เม็ดพลาสติกโพลีสไตรีน ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าประเภทภาชนะใส่อาหาร และเครื่องใช้ในครัวเรือน ซึ่งหากผู้ผลิตไม่สามารถเพิ่มราคาต้นทุนสินค้าที่ขายให้กับผู้บริโภคได้ ก็จำเป็นต้องปรับลดปริมาณการผลิตสินค้าลง แทนที่ต้องแบกรับภาระขาดทุนจากการผลิตสินค้าออกมาขายต่ำกว่าต้นทุน