ปู่เห็นว่าน่าสนใจและตรงกับเหตุการณ์ช่วงนี้ที่มีคนถามว่า
ทำไมหุ้นบ้านเราจะขึ้นหรือลงต้องอิงกับต่างชาติเสมอ
วันนี้ปู่เห็นค่าเงินบาทอ่อนจะแตะ41บาท
ถ้าผ่านแนวต้านนี้ได้มันจะอ่อนได้อีกพอควร...
นั่นคือข้อควรระวังสำหรับตลาดหุ้นช่วงนี้
...........................................................
มอร์แกน สแตนเลย์ เตือนเอเชียระวังเจอวิกฤตเงินทุนไหลออก หวั่นเฟดปรับดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้น กระตุ้นเงินทุนต่างชาติตีจากซบตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ระบุนับถึงขณะนี้มีเงินร้อนทะลักเข้าเอเชียช่วงดอกเบี้ยสหรัฐต่ำกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์
นายแอนดี เซี่ย นักเศรษฐศาสตร์ ของมอร์แกน สแตนเลย์ (ฮ่องกง) กล่าวเตือนในบทวิเคราะห์ฉบับล่าสุดว่า เอเชียอาจเผชิญสถานการณ์เงินทุนไหลออกอย่างรุนแรง เพราะหากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้น หรือ fed fund rate ในไตรมาสที่ 3 อาจกระตุ้นให้เงินทุนต่างประเทศบางส่วนที่เข้ามาเพื่อเก็งกำไรไหลออกจากตลาดในภูมิภาคเอเชีย
นายเซี่ยประเมินว่า กระแสเงินทุนที่ไหลเข้ามาเพื่อเก็งกำไร มีสัดส่วนประมาณ 7 แสนล้านดอลลาร์ จากยอดเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเอเชียที่มีอยู่ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ผลของการปรับลดดอกเบี้ยลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ของสหรัฐนานถึง 3 ปี ทำให้เงินทุนต่างประเทศหันหัวเรือมาลงทุนในตลาดเกิดใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะเอเชีย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตกระฉูดของเศรษฐกิจจีน
เงินทุนต่างประเทศได้ไหลเข้ามาซื้อสินทรัพย์อย่างมหาศาลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยระหว่างไตรมาสแรกของปี 2545 ถึงไตรมาสแรกของปี 2547 ทุนสำรองโดยรวมของเอเชียเพิ่มขึ้น 1.029 ล้านล้านดอลลาร์ สำหรับไทย ทุนสำรองฯเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ระดับ 43.2 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ยอดดุลการค้ารวมเพิ่มขึ้น 4.06 แสนล้านดอลลาร์ โดยในจำนวนนี้ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมากที่สุด มีสัดส่วน 42.7% จีน 26.5% ไต้หวัน 10.1% อินเดีย 6.6% และเกาหลีใต้ 5.9%
นายเซี่ยยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เอเชียกลายเป็นภูมิภาคที่มีเงินทุนส่วนเกิน โดยระหว่างปี 2537-2546 ตัวเลขเกินดุลการค้าของเอเชียอยู่ที่ระดับ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ทุนสำรองเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งตัวหลักที่ทำให้เกิดการเกินดุลการค้ามาจากเศรษฐกิจญี่ปุ่น และจีน
"การเกินดุลของญี่ปุ่นมาจากภาวะเงินฝืด โดยในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 0% และการขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ระดับสูงสุด ทางเดียวที่ญี่ปุ่นจะสามารถปรับเศรษฐกิจให้ดีขึ้นคือ ต้องทำผ่านการลดค่าเงินเยน" นายเซี่ยตั้งข้อสังเกต
ระหว่างไตรมาสแรกของปี 2544 ถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2547 ทุนสำรองของจีนได้เพิ่มขึ้น 2.73 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธนาคารจีนเริ่ม ลดการถือครองสินทรัพย์ต่างประเทศสุทธิ ขณะที่ส่วนหนึ่งมาจากชาวจีนโพ้นทะลที่เก็งกำไรค่าเงินและในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีน ซึ่งนายเซี่ยระบุว่า เงินทุนประเภทนี้ไม่ได้เข้ามาเพื่อเป้าหมายของการลงทุนระยะยาวในเอเชีย จึงพร้อมจะไหลออกไปทุกเมื่อหากเกิดสถานการณ์พลิกผันในตลาดสินทรัพย์เอเชีย หรือหากเฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย
นอกจากนี้ เงินทุนที่ไหลเข้ามาในเอเชียส่วนหนึ่งยังมาจากการจัดสรรพอร์ตลงทุนของกองทุนระดับโลก และกองทุนบริหารความเสี่ยง (hedge fund) โดยในสัดส่วนของกระแสเงินทุนที่ไหลเข้าเพื่อเก็งกำไร พบว่าเงินทุนของกองทุนโลกมีสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของกระแสเงินทุนประเภทนี้ ขณะที่เฮดจ์ฟันด์มีสัดส่วนประมาณ 15%-17%
นายเซี่ยเตือนว่า หากทุนสำรองลดลงอาจทำให้ประเทศเอเชียต้องดำเนินมาตรการเข้มงวดในตลาดการเงิน ซึ่งอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น หรือค่าเงินอ่อนลง ซึ่งผลกระทบจะมีมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความสามารถในการแทรกแซงตลาด และการปรับสภาพคล่องให้เกิดสมดุลในระบบการเงิน