โค้ด: เลือกทั้งหมด
เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วประธานาธิบดีทรัมป์ ให้วุฒิสมาชิก และผู้แทนราษฎรจากมลรัฐที่มีพื้นฐานด้านการเกษตรเข้าพบและหลังจากการพบปะดังกล่าวผู้เข้าร่วมการประชุมออกมาเล่าให้นักข่าวฟังว่าประธานาธิบดีทรัมป์สั่งการให้ นายLarry Kudlow ประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจคนใหม่ ร่วมกับนายRobert Lighthizer ผู้แทนการค้าสหรัฐ ไปดำเนินการพิจารณาหาลู่ทางให้สหรัฐเข้าร่วมเป็นภาคีของข้อตกลงทางการค้าของกลุ่มประเทศชายขอบมหาสมุทรแปซิฟิก หรือที่เรียกกันว่า ทีพีพี (Trans Pacific Partnership, TPP) แต่ต่อมา ทรัมป์ ก็กล่าวในทวิตเตอร์ว่า สหรัฐจะกลับเข้าร่วมเป็นภาคี ทีพีพี ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นประโยชน์กับสหรัฐมากกว่า (substantially better) ที่รัฐบาลโอบามาได้เคยเจรจาทำความตกลงเอาไว้
เรื่องนี้ เป็นข่าวใหญ่พอสมควร และน่าจะเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจไปอีกนาน แต่ผมค่อนข้างจะมั่นใจว่า สหรัฐจะไม่สามารถกลับเข้ามาเป็นภาคีของ ทีพีพี ได้อีก หรือ หากจะเจรจากันอย่างจริงจังก็คงต้องใช้เวลานานอย่างน้อย 2-3 ปี จึงจะประสบความสำเร็จ ซึ่งต้องหมายความว่า ทรัมป์จะต้องได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 และจะต้องกลับตัวและกลับใจมาสนับสนุนระบบการค้าเสรีอย่างแท้จริง
ในระหว่างการหาเสียงจนได้รับชัยชนะเข้ามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐนั้น ทรัมป์อาศัยการโจมตี จีน ข้อตกลงการค้าเสรีนาฟต้า และ ทีพีพี เป็นนโยบายเศรษฐกิจหลัก โดยในส่วนของ ทีพีพี นั้น ได้เคยกล่าวหาเสียงที่มลรัฐโอไฮโอ เมื่อเดือนมิถุนายน 2016 ว่า “The Trans Pacific Partnership is another disaster done and pushed by special interest who wants to rape our country” และดังที่ทราบกันดีแล้วว่า เมื่อ ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 ม.ค.2017 เขาก็ใช้อำนาจประธานาธิบดีถอนตัวสหรัฐออกจาก ทีพีพี เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2017
มาวันนี้ ทรัมป์ อาจเพิ่งเข้าใจว่า ทีพีพี นั้น ให้ประโยชน์กับสหรัฐมากมาย เพราะแม้ว่า สหรัฐจะต้องยอมเปิดตลาดสินค้าของตนเพิ่มขึ้น แต่สหรัฐ ก็ได้กดดันให้ญี่ปุ่นยอมเปิดตลาดสินค้าเกษตร และบังคับให้ภาคีอื่น ๆ ยอมรับมาตรการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนสหรัฐ เรียกร้องมายาวนาน ที่สำคัญคือ เมื่อสหรัฐกำลังข่มขู่ที่จะตอบโต้จีน เรื่องการค้า จีนก็ขู่ตอบโดยการขึ้นภาษีสินค้าเกษตร ทำให้มลรัฐที่พึ่งพาการเกษตร 10-12 มลรัฐ เดินทางมาร้องเรียนกับ ทรัมป์ ซึ่งได้กล่าวปลอบใจไปว่าจะเร่งรัดให้กระทรวงเกษตรสหรัฐมีมาตรการช่วยเหลือ และจะเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ให้ ซึ่งตลาดส่งออกที่อาจจะทดแทนจีนได้อย่างมีนัยสำคัญ ก็คือญี่ปุ่น
นอกจากนั้น ทีพีพี มีความสำคัญยิ่งในเชิงของเศรษฐศาสตร์การเมือง กล่าวคือ ทีพีพี 12ประเทศ ซึ่งรวมสหรัฐนั้น มี จีดีพี รวมกัน 30 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (สหรัฐ 19 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และ ทีพีพี 11 ประเทศที่เหลือ 10.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) เป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีสัดสัดส่วน 40% ของจีดีพีโลก สามารถโดดเดี่ยวจีนได้ และเป็นข้อตกลงที่กำหนดบรรทัดฐานการค้าสินค้าและบริการ (รวมถึงการคุ้มครองการลงทุน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และ ทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ) ที่สูงกว่ามาตรฐานสากล ภายใต้องค์กรโลก (WTO) ซึ่งจะเป็นเรื่องง่ายในอนาคตที่ ทีพีพี จะนำเอามาตรฐานดังกล่าวมาเป็นบรรทัดฐานให้จีน และ WTO ต้องนำมาบังคับใช้ในโอกาสต่อไป
แต่การกลับเข้ามาของสหรัฐไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเงื่อนไขในการทำให้ ทีพีพี มีผลบังคับใช้นั้น ได้กำหนดว่าจะต้องให้สัตยาบรรณ (ratification) โดยภาคี ที่มี จีดีพี คิดเป็นมูลค่าอย่างน้อย 60% แต่เมื่อสหรัฐถอนตัวจาก ทีพีพี ประเทศ ทีพีพี ที่เหลือ 11 ประเทศ ต้องแสวงหาแนวทางใหม่ และทำข้อตกลงฉบับใหม่ที่อาศัยสาระเดิมของ ทีพีพีประมาณ 70% โดยได้บรรลุ ข้อตกลงComprehensive and Progressive Agreement for the Trans Pacific Partnership (CPTPP หรือ TPP-11) เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2017 ว่า TPP-11 นี้ จะมีผลบังคับใช้เมื่ออย่างน้อย 6 จาก 11ประเทศ ให้สัตยาบรรณ ซึ่งคาดว่าจะทำได้สำเร็จภายในกลางปีหน้า หมายความว่า สหรัฐซึ่งจะขอสมัคร เป็นสมาชิกใหม่ (ไม่ใช่ประเทศผู้ก่อตั้ง) ได้ก็เมื่อ ทีพีพี-11 มีผลบังคับใช้แล้ว ทั้งนี้ ประเทศทั้ง 11 ประเทศ จะต้องเป็นเอกฉันท์กล่าวคือ หากประเทศใดใน 11 ประเทศ ไม่เห็นด้วย (เช่น มาเลเซีย) สหรัฐก็จะไม่สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกได้
จริงอยู่สหรัฐมีอำนาจต่อรองสูง และเสียงส่วนใหญ่ คงอยากให้สหรัฐกลับเข้ามาร่วม ทีพีพี นอกจากนั้น TPP-11 ก็ยังได้แสดงท่าที “รอ” สหรัฐ เพราะมีประมาณ 22 มาตราในข้อตกลง ทีพีพี ที่ถูก “ดอง” เอาไว้ไม่ได้อยู่ในข้อตกลง ทีพีพี-11 ซึ่งเป็นมาตราที่เป็นประโยชน์กับสหรัฐทั้งสิ้น
สำหรับไทยนั้น ก็คงไม่สามารถเข้าเป็นภาคี TPP-11 ได้ในปลายปีนี้ ดังที่รัฐบาลไทยประกาศ แต่คงต้องรอต่อคิวสหรัฐ ครับ